ข้าวขาวดอกมะลิ 105

ข้าวขาวดอกมะลิ 105

       ข้าวขาวดอกมะลิ 105 เป็นพรรณข้าวที่ชาวนครสวรรค์เจ็บปวดใจมาหลายปีเป็นเพราะสาเหตุบางอย่างเกษตรกรชาวนครสวรรค์ทราบกันดี  แรกเริ่มเดิมทีเกษตรกรซื้อพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ105 เพื่อมาเพาะปลูกจากศูนย์วิจัยข้าวของรัฐที่ตั้งอยู่ตามจังหวัดต่างๆอันเป็นที่ยอมรับเชื่อถือได้  ถ้าซื้อพันธุ์ข้าวจากศูนย์วิจัยต้องได้ข้าวพันธุ์ดีของแท้ และตรงตามพันธุ์แน่นอน
        หลังจากเกษตรกรเพาะปลูกข้าวขาวดอกมะลิ 105  ข้าวก็เจริญงอกงามเติบโตเป็นปกติ จนถึงอายุการเก็บเกี่ยวข้าวขาวดอกมะลิให้ผลผลิตต่อไร่สูงเป็นที่น่ายินดี และดีใจของเกษตรกร เมื่อนำไปหุงต้มให้กลิ่นหอมอ่อนนุ่มน่ารับประทานมาก  แต่ในทางกลับกันเมื่อนำข้าวขาวดอกมะลิ105ไปขายให้กับโรงสีทางโรงสีก็ตีค่าให้เป็นข้าวหอมจังหวัด ทำให้ราคาขายตกต่ำไปซะอย่างนั้น  ทั้งที่จังหวัดรอบข้างของนครสวรรค์เกษตรกรเพาะปลูกข้าวขาวดอกมะลิ 105  ขายก็เป็นข้าวขาวดอกมะลิ 105 ได้ราคาสูงเป็นที่เบิกบานใจของเกษตรกร  อีกอย่างหนึ่งที่น่าสงสัยมากก็คือโรงสี สีข้าวหอมจังหวัดที่รับซื้อจากเกษตรกร ออกมาเป็นข้าวสารขาวดอกมะลิ 105 อันนี้ช้ำใจและเจ็บปวดมากท่านลองไปหาซื้อข้าวสารหอมจังหวัดที่โรงสีหรือตามท้องตลาดดูซิมีขายไหมตีตราเป็นข้าวขาวดอกมะลิ105หน้าตาเฉย
         นี่แหละความเจ็บปวดของเกษตรกรชาวจังหวัดนครสวรรค์ที่เพาะปลูกข้าวขาวดอกมะลิ 105 
ต้องเผชิญชะตากรรม  ต้องอดทน หวานก็อม ขมก็กลืนรอวัน รอกึ๋นของผู้นำที่จะมาแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรชาวนครสวรรค์รอและก็รอจนกว่าจะตายจากกัน**
*********
มารู้จักและเรียนรู้การปลูกข้าวขาวดอกมะลิ 105 กันดีกว่า       
        *ข้าวขาวดอกมะลิ 105 เป็นพันธุ์ข้าวหอมที่ได้จากการนำข้าวพันธุ์พื้นเมืองจากนาเกษตรกร อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 199 รวง มาปลูกเพื่อศึกษาพันธุ์และได้ข้าวรวงที่ 105 ที่มีลักษณะพิเศษ คือ มีกลิ่นหอม และเมล็ดอ่อนนุ่ม เมื่อนำมาหุงต้ม ดังนั้นจึงมีการปรับปรุงพันธุ์ให้บริสุทธิ์ตามหลักวิชาการจนได้พันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 และ รัฐบาลประกาศให้ขยายพันธุ์ส่งเสริมการปลูกได้ตั้งแต่วันที่ 25พฤษภาคม 2502 เป็นต้นมา สำ หรับพื้นที่ปลูกข้าวขาวดอกมะลิ 105 ที่เหมาะสม ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลางบางพื้นที่
*ลักษณะทั่วไป
1. เป็นข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง
2. เป็นข้าวต้นสูงประมาณ 140-150 เซนติเมตร
3. อายุเก็บเกี่ยว ข้าวจะออกดอกประมาณวันที่ 20 ตุลาคม และสุกแก่เก็บเกี่ยวได้ ประมาณวันที่20
พฤศจิกายนของทุกปี
4. ระยะพักตัวของเมล็ด ประมาณ 8 สัปดาห์
5. ขนาดเมล็ดข้าวกล้อง ยาว 7.5 มิลลิเมตร กว้าง 2.1 มิลลิเมตร หนา 1.8 มิลลิเมตร
6. ลักษณะเมล็ดข้าวเปลือก เมล็ดเรียวยาว ก้นงอน สีฟาง
*ข้อดีของพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 
1. มีกลิ่นหอม เมล็ดอ่อนนุ่มเมื่อนำ มาหุงต้ม
2. ทนต่อสภาพแล้ง ทนต่อดินเปรี้ยวและดินเค็ม
3. คุณภาพการขัดสีดี เมล็ดข้าวสารใส แข็ง มีท้องไข่น้อย
4. นวดง่าย เนื่องจากเมล็ดหลุดร่วงจากรวงได้ง่าย
5. เป็นที่ต้องการของตลาด ขายได้ราคาดี
*ข้อจำกัดของพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105
1. ไม่ต้านทานโรคขอบใบแห้ง โรคใบสีส้ม โรคใบจุดสีน้ำตาล และโรคไหม้ และโรคใบหงิก
2. ไม่ต้านทานแมลงบั่ว  เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
3. ต้นอ่อนล้มง่าย ถ้าปลูกในบริเวณที่ดินมีความ                                                                                              อุดมสมบูรณ์สูง
*การปลูกข้าวขาวดอกมะลิ 105 เพื่อให้ได้ผลผลิตสูง
1. คัดเลือกเมล็ดพันธุ์ให้บริสุทธิ์ ไม่ให้มีเมล็ดพันธุ์อื่นหรือสิ่งเจือปน เช่น เมล็ดวัชพืชและเปอร์เซ็นต์
การงอกสูง 80 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป
2. เลือกวิธีการปลูกและช่วงเวลาที่เหมาะสม
       2.1 ในเขตชลประทานที่ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำ ควรทำ นาดำ หรือนาหว่านน้ำตมแผนใหม่ โดยนาดำ ให้
เริ่มตกกล้ากลางเดือน กรกฎาคม ปักดำ ต้นสิงหาคม แล้วข้าวจะออกดอกประมาณ 20 ตุลาคม และเก็บเกี่ยวได้ประมาณ 20 พฤศจิกายนของทุกปี ส่วนนาหว่านน้ำตมแผนใหม่ ให้หว่านประมาณปลายเดือนกรกฎาคมถึงต้นเดือนสิงหาคม แล้วเก็บเกี่ยวในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน
       2.2 ในพื้นที่ฝนตกน้อยหรือฝนล่า ควรทำ นาหว่านหรือนายอด โดยช่วงเวลาปลูกที่เหมาะสมอยู่ระหว่างปลายเดือนกรกฎาคมถึงต้นเดือนสิงหาคม และข้าวจะเก็บเกี่ยวได้ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน
3. การเตรียมดินเพื่อปลูกข้าวขาวดอกมะลิ 105
    

   3.1 นาหว่านข้าวแห้ง ในสภาพดินร่วนปนทรายที่จังหวัดสุรินทร์และดินทรายปนดินร่วนที่ทุ่งกุลาร้องไห้ จะเตรียมดินโดยการไถพรวนแล้วหว่านเมล็ดข้าวในอัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ จากนั้นคราดกลบและโปรยฟางคลุม 1000 กิโลกรัมต่อไร่ จะทำ ให้ผลผลิตเฉลี่ยที่ได้สูงสุดถึง 500 กิโลกรัม/ไร่
นาหว่านข้าวแห้ง
    

  

 3.2 นาดำ จะต้องไถดะทิ้งไว้ประมาณ 15 วัน จึงไถแปรอีกครั้ง เพื่อกำ จัดต้นอ่อนของวัชพืชที่งอกขึ้นมาใหม่แล้วคราดเพื่อกดวัชพืชให้จมอยู่ใต้โคลน ในขณะเดียวกันก็เกลี่ยโคลนปรับระดับหน้าดินไปด้วย จะทำให้ระดับน้ำในแปลงนาท่วมคลุมวัชพืชได้อย่างทั่วถึง 






        3.3 นาหว่านน้ำตมแผนใหม่ มีวิธีการเตรียมดินที่ยุ่งยากกว่า 2 วิธีที่ผ่านมา โดยเริ่มจากการไถดะทิ้งไว้ประมาณ 15 วันแล้วไถแปรทิ้งไว้อีก 7 วัน จากนั้นไถแปรอีกครั้งแล้วคราดเก็บเศษวัชพืชออกให้หมด หรือ เหยียบขี้คราดกดเศษ วัชพืชต่างๆ ให้ลงไปอยู่ใต้โคลน แล้วจึงลูบเทือกให้เรียบสม่ำเสมอ แบ่งแปลงย่อยขนาดกว้าง 3-5 เมตร ทิ้งไว้ 1 คืน แล้วจึงหว่านเมล็ด หลังจากนั้น 4-5 วันให้ทยอยปล่อยน้ำเข้าท่วมหน้าดิน เพื่อคลุมวัชพืชที่งอกตามระดับความสูงของน้ำจนถึงระดับประมาณ 10-15 เซนติเมตร ต้นข้าวจะเจริญ          
 เติบโตพอที่จะคลุมวัชพืชได้
    
    3.4 นาหยอด เป็นวิธีที่ไม่นิยมปลูกมากนัก แต่ถ้าจำ เป็นจะต้องปลูกด้วยวิธีนี้ ในช่วงเตรียมดินจะต้องกำจัดวัชพืชออกให้หมด และหลังจากหยอดเมล็ดข้าวแล้วควรคลุมฟางทับในอัตรา 1000 กิโลกรัมต่อไร่ และเมื่อมีโอกาสได้รับน้ำฝนจะต้องเก็บกักน้ำให้ท่วมวัชพืช เพื่อกำ จัดวัชพืชที่งอกมาใหม่


4. ใช้เมล็ดพันธุ์อัตราที่เหมาะสม กล่าวคือ ถ้าเป็นนาหว่านข้าวแห้ง ควรใช้ในอัตรา 10-15 กิโลกรัม
ต่อไร่ นาหว่านน้ำตมแผนใหม่ 12-15 กิโลกรัมต่อไร่ วิธีหยอด 6-8 กิโลกรัมต่อไร่ และปักดำ ใช้ 4-7
กิโลกรัมต่อไร่






5. ควรใส่ปุ๋ยในอัตราที่เหมาะสมและถูกวิธี ดังนี้
การใส่ปุ๋ยนาดำ ควรใส่ 2 ครั้ง คือ
        ครั้งที่ 1 ใส่ก่อนปักดำ ไม่เกิน 1 วัน หรือหลังปักดำ ประมาณ 10-20 วัน โดยใส่ปุ๋ยสูตร 16-20-0,
20-20-0 , 28-22-0 หรือ 18-46-0 ในดินเหนียว และสูตร 16-16-8 ในดินทราย อัตรา 20-25กิโลกรัมต่อไร่
        ครั้งที่ 2 ใส่ก่อนข้าวออกดอกประมาณ 30 วัน (ประมาณวันที่ 20 กันยายนของทุกปี) โดยใช้สูตร
21-0-0 ในอัตรา 10-20 กิโลกรัมต่อไร่ หรือปุ๋ยยูเรียสูตร 46-0-0 ในอัตรา 5-10 กิโลกรัมต่อไร่
การใส่ปุ๋ยนาหว่านน้ำตมแผนใหม่ ควรใส่ 2 ครั้ง คือ
        ครั้งที่ 1 ใส่หลังหว่านข้าวแล้ว 20-30 วัน โดยใช้ปุ๋ยสูตร 16-20-0, 20-20-0, 18-22-0
หรือ 18-46-0 ในดินเหนียวและสูตร 16-16-8, ในนาดินทราย อัตรา 20-25 กิโลกรัมต่อไร่  
        ครั้งที่ 2 ใสในช่วงก่อนข้าวออกดอกประมาณ 30 วัน (ประมาณวันที่ 20 กันยายนของทุกปี) โดยใช้ปุ๋ยสูตร 21-0-0 ในอัตรา 10-20 กิโลกรัมต่อไร่ หรือ ปุ๋ยยูเรียในอัตรา 5-10 กิโลกรัมต่อไร่
ส่วนการทำ นาหว่านข้าวแห้งและนาหยอด ไม่ควรใช้ปุ๋ยเคมีเพราะจะทำ ให้ค่าตอบแทนไม่คุ้มค่า ถ้าจะใช้ให้ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักเท่านั้น



                   



        


 6. มีการป้องกันกำ จัดโรค แมลง และสัตว์ศัตรู 
*โรคที่สำคัญ  ดูโรคข้าวเพิ่มเติม
โรคไหม้และโรคคอรวงเน่า
เชื้อสาเหตุ : เชื้อรา
การป้องกันกำจัด : 1. ไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในอัตราสูงเกินไป
2. ใช้สารเคมีฉีดพ่น ได้แก่ เบนเลทฮิโนซาน ฉีดพ่น 2 ครั้ง โดยทิ้งระยะ
ห่างกัน 7 วันในช่วงที่มีการระบาดของโรค โรคไหม้ โรคคอรวงเน่า



โรคใบหงิก
เชื้อสาเหตุ : เชื้อไวรัส โดยมีเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเป็นแมลงพาหะ
การป้องกันกำจัด : ใช้สารเคมีประเภทดูดซึม ได้แก่ คาร์โบฟูรานหว่านในแปลงกล้า ในอัตรา 5 กิโลกรัมต่อไร่โดยใส่เพียงครั้งเดียวก่อนหว่านกล้า หรือ หลังจากข้าวงอกแล้วประมาณ 3-4 วัน



โรคขอบใบแห้ง
เชื้อสาเหตุ : เชื้อแบคทีเรีย
การป้องกันจำกัด :
1. ไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนสูงเกินไป
2. ใช้สารเคมีจำพวกฟีนาซีน (Phenazine-5-oxide) โดยใช้ตามคำ แนะนำ ในฉลาก






โรคใบจุดสีน้ำตาล
เชื้อสาเหตุ : เชื้อรา
การป้องกันกำจัด : ใช้สารเคมี ได้แก่ ซีรีแซน (Ceresan) หรือไดเทนเอ็ม 45 คลุกเมล็ดพันธ์ก่อนนำ ไปปลูก







*แมลงศัตรูที่สำคัญ
เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
การป้องกันกำจัด :
1. ใช้หลอดไฟชนิดเรืองแสง (นีออน) ล่อและเก็บตัวเต็มวัยของเพลี้ยกระโดสีน้ำตาลมาทำ ลาย
2. ใช้สารเคมีประเภทดูดซึม จำพวกคาร์โบฟูราน เช่น ฟูราดาน
3 วีดูราแทร์ โดยใช้ตามคำแนะนำในฉลาก

















หนอนกอ
การป้องกันกำจัด : 1. เผาตอซังข้าวหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตเรียบร้อยแล้ว
2. ใช้หลอดไฟชนิดเรืองแสงล่อและเก็บตัวผีเสื้อหนอนกอมาทำ ลาย
3. ใช้สารเคมีป้องกันกำจัด ได้แก่ บี เอช ซี หรือ ฟูราดาน โดยใช้ตามคำแนะนำในฉลาก




หนอนม้วนใบ
การป้องกันกำจัด : 1. ทำความสะอาดแปลงนา ไม่ให้เห็นที่อยู่อาศัยของหนอนม้วนใบ
2. ใช้หลอดไฟชนิดเรืองแสงล่อแมลงและเก็บตัวผีเสื้อหนอนม้วนใบมาทำ ลาย
3. ใช้สารเคมีป้องกันกำจัด ได้แก่ มาลาไธออน โดยใช้ตามคำแนะนำในฉลาก


แมลงสิง
การป้องกันกำ จัด :
1. ทำ ความสะอาดแปลงนาไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของแมลงสิง
2. ใช้สารเคมีป้องกำ จัด ได้แก่ มาลาไธออน โดยใช้ตามคำแนะนำในฉลาก







*สัตว์ศัตรูที่สำคัญ
หอยเชอรี่
การป้องกันกำ จัด :
1. ในช่วงเตรียมดินหลังจากฝนตกใหม่ ๆ ควรปล่อยเป็ดลงไปหากินในแปลงนาและในขณะที่ไถคราด ถ้าหากพบหอยเชอรี่ หรือไข่หอยเชอรี่ให้เก็บนำไปทำอาหารรับประทาน เลี้ยงเป็ดหรือทำลายทิ้ง
2. ในช่วงหลังไถคราดนาแล้ว ให้ใช้กิ่งไม้ปักไว้ตามมุมคันนาและนำ หญ้าอ่อนไปว่างล่อหอยเชอรี่ไปอาศัยอยู่และวางไข่ เพื่อความสะดวกในการกำจัดต่อไป
3. ใช้สารเคมีฉีดพ่น คือ คอปเปอร์ซัลเฟต (จุนสี) ชนิดผงสีฟ้าใช้ในอัตรา 1 กิโลกรัมต่อไร่ ละลายนํ้าแล้วจึงฉีดพ่นให้ทั่ว โดยระดับนํ้าในแปลงนา ไม่ควรสูงเกิน 10 เซนติเมตร หอยเชอรี่จะตายหมดภายใน 24 ชั่วโมง


หนู
การป้องกันกำจัด :
1. ทำความสะอาดแปลงนาไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของหนู
2. ใช้ซิงค์ฟอสไฟด์ ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์เร็วในอัตรา 1 ส่วนต่อปลายข้าว100 ส่วน แล้ววางไว้บริเวณรอบๆ แปลงนา ถ้าจำนวนหนูยังมีมากอยู่ให้ใช้ราคูมิน หรือวอร์ฟาริน ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ช้า ในอัตรา 1 ส่วนต่อปลายข้าว 19 ส่วน แล้วนำไปใส่ภาชนะที่กันฝนได้วางไว้ในบริเวณรอบๆแปลงนา



 (นกกระติ๊ดขี้หมู)
การป้องกันกำจัด :
 1. ใช้วิธีกล ได้แก่ การทำให้นกตกใจ โดยการไล่ใช้เครื่องมือสร้างขึ้นมาทำให้เกิดเสียงดัง ทำหุ่นไล่กาไว้ในแปลงนาหรือใช้เทปคลาสเซสที่เสียแล้วขึงปักติดกับหลักไม้ให้สะท้อนแสงไล่นก เป็นต้น
2. ใช้สารเคมีไล่นก เช่น เมซูรอลหรือเมทิโอคาร์บ 12 ช้อนแกงต่อไร่ ผสมน้ำ 20 ลิตร (1ปี๊บ) ฉีดพ่นครั้งแรกที่ข้าวเป็นน้ำนม หลังจากนั้นอีก 12วันให้ฉีดพ่นซ้ำอีกครั้ง โดยสารเคมีนี้ จะไม่เป็นอันตรายต่อนก เพียงแต่ทำให้นกกินแล้วเข็ดและบินหนีไปเท่านั้น

ไส้เดือนฝอย
การป้องกันกำจัด : ไม่ควรปล่อยให้แปลงนาในระยะปลูกข้าวขาดน้ำและถ้าหากพบมีการระบาด จะต้อง
แก้ไขน้ำให้ท่วมแปลงนาระยะหนึ่งเพื่อทำลายไส้เดือนฝอย










ปู
การป้องกันกำจัด :
1. ใช้ต้นกล้าที่แข็งแรงมาปลูก โดยใช้กล้าที่มีอายุมาก กว่า 30 วัน ขึ้นไปหรือ หลังจากปักดำ ข้าวแล้วให้ปล่อยน้ำออกจากแปลงนาทัน ที เมื่อต้น ข้าวตั้งตัวได้แล้วจึงปล่อยน้ำเข้าอีกครั้ง
2. ใช้สารเคมี ได้แก่ เอส - ไธออน เฟนนิโตรไธออน ในอัตรา 40 ซีซีต่อไร่ซึ่งจะให้ผลดีในการป้องกันกำ จัดและไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำอื่น ๆ


*การปลูกข้าวขาวดอกมะลิ 105 เพื่อใช้ทำพันธุ์
1. ขนาดพื้นที่จะปลูกข้าวไว้ทำ พันธุ์ ขึ้นอยู่กับปริมาณพันธุ์ข้าวที่จะปลูกในที่นาทั้งหมด โดยใช้อัตรา
ส่วนดังนี้ คือ พื้นที่แปลงพันธุ์ 1 ไร่ต่อพื้นที่ปลูกประมาณ 50 ไร่
2. การเตรียมแปลงกล้า ควรกำจัดข้าวเรื้อที่เกิดจากเมล็ดข้าวที่ร่วงหล่นตกค้างในแปลงนาโดยการ
ไถพรวน แล้วปล่อยน้ำให้ข้าวเรื้องอก จากนั้นไถคราดกำจัดข้าวเรื้อออกให้หมด โดยแปลงนาที่ปลูกข้าวพันธุ์ดีนั้น ควรจะปลูกพันธุ์เดิมซ้ำทุก ๆ ปี
3. การเตรียมแปลงปักดำ ควรมรการกำจัดข้าวเรื้อ เช่นเดียวกับแปลงกล้า และทำการปักดำ ข้าวกอ
ละ 3 ต้น ระยะห่างประมาณ 25 เซนติเมตร และเว้นระยะระหว่างพันธุ์ 1 เมตร หรือคนละกระทงนา มีการ
ใส่ปุ๋ยบำรุง ได้แก่ สูตร 16-20-0 หรือ16-16-8 อย่างน้อยไร่ละ 20-25 กิโลกรัมต่อไร่
4. การกำ จัดข้าวปน ควรทำ 3 ครั้ง คือ ครั้งแรกระยะแตกกอ โดยดูจากลักษณะการแตกกอ การชูใบ ความสูงของสีใบและต้น ถ้าพบที่ต้นผิดปกติ ควรตัดกอหรือต้นข้าวนั้นทิ้งครั้งที่ 2 ระยะออกดอกให้ตัดกอข้าวหรือต้นข้าวที่ออกดอกผิดเวลากับต้นข้าวข้างเคียง ครั้งที่ 3 ระยะข้าวส่วนใหญ่สุกเหลืองให้ตัดข้าวที่มีลักษณะเมล็ดผิดปกติทิ้งไป
5. เก็บเกี่ยวข้าวทันทีที่เมล็ดสุกจัด แล้วนำ ไปนวดทันทีไม่ควรตากฟ่อนข้าวทิ้งไว้ในแปลงนา เพราะอาจจะถูกฝนทำ ให้เมล็ดข้าวเสื่อมคุณภาพได้
6. การนวดข้าว-การตากข้าว ควรแยกข้าวขาวดอกมะลิ 105 ออกจากข้าวพันธุ์อื่น ๆ เมื่อตากแดด
แห้งดีแล้วฝัดให้สะอาดและบรรจุลงกระสอบเก็บไว้ในที่แห้งร่มและเย็น
*การเก็บเกี่ยว
1. เก็บเกี่ยวในระยะเวลาที่เหมาะสม คือ ระยะที่ข้าวออกดอกแล้วประมาณ 30-35 วัน โดยรวงจะ
โน้มลง เมล็ดในรวงมีสีฟางหรือเหลือง โคนรวงมีเมล็ดเขียวบ้างเล็กน้อย ซึ่งเรียกว่า ระยะพลับพลึง เป็นระยะที่เมล็ดข้าวสุกแก่พอเหมาะ ทำ ให้ได้น้ำหนักเมล็ดสูง เปอร์เซ็นต์ข้าวเต็มเมล็ด ปริมาณมากและมีคุณภาพการสีดี
2. วิธีการเก็บเกี่ยว ก่อนถึงระยะเก็บเกี่ยว 10 วัน ควรระบายน้ำออกจากแปลงนาเพื่อให้ข้าวสุกแก่พร้อมกัน ส่วนวิธีการเก็บเกี่ยวนั้น สามารถทำได้ทั้งการเกี่ยวด้วยมือ และใช้เครื่องมือเก็บเกี่ยว ซึ่งจะให้ข้าวที่มีคุณภาพไม่แตกต่างกัน แต่ถ้ามีการปรับเครื่องจักรไม่เหมาะสมกับการทำ งานอาจจะทำให้เกี่ยวไม่ได้ข้าวร่วงหล่นหรือเมล็ดแตกหักได้

*การตากข้าว
        เป็นการลดความชื้นในเมล็ดข้าวให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม คือ 12-14 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเมื่อนำ ไปสี
แล้วจะทำ ให้ได้คุณภาพการสีสูง และสามารถเก็บข้าวเปลือกไว้ได้นาน ซึ่งการตากข้าวมี 2 วิธีคือ
1. การตากข้าวก่อนนวด เป็นการตากข้าวในขณะที่เมล็ดอยู่ในรวง โดยการตากจะต้องคำนึงถึง
คุณภาพข้าวที่ตากเป็นสำคัญ โดยทำ ให้ความชื้นพอเหมาะและข้าวมีความสะอาด ซึ่งมีวิธีปฏิบัติ ดังนี้
1.1ควรตากข้าวประมาณ 2-3 แดด
1.2การกองข้าวควรกองให้สูงประมาณ 50 เซนติเมตร
1.3หมั่นกลับกองข้าวเพื่อให้แห้งสม่ำเสมอทั้งกอง
1.4ในช่วงเวลากลางคืน ควรหาวัสดุปิดบังน้ำค้างหรือน้ำฝน โดยเฉพาะกองข้าวที่กองสูงๆ หรือกองตากแดดทิ้งไว้นาน ๆ จะทำ ให้เมล็ดมีรอยร้าว และข้าวแตกหักมากเวลาสี
1.5วิธีการตากข้าวที่เหมาะสมที่สุด คือ ทำราวแขวนตาก เพราะจะทำ ให้ข้าวถูกแดดสม่ำเสมอและไม่สกปรก
2. การตากข้าวหลังนวด เป็นการตากข้าวที่นวดออกจากรวงแล้ว โดยตากบนลานตากหรือบนพื้นที่มี
วัสดุรองรับ การตากควรมีการกลับกองข้าวอย่างสม่ำเสมอ และในช่วงเวลากลางคืน ควรโกยข้าวมากองรวมกันแล้วใช้ภาชนะปิดกันน้ำค้างและน้ำฝน การตากวิธีนี้จะใช้เวลาในการตากประมาณ 1-3 วัน ขึ้นอยู่กับปริมาณข้าว

*การนวดข้าว
        เป็นการทำเมล็ดข้าวหลุดจากรวง ซึ่งมีวิธีการปฏิบัติแตกต่างกันไปแต่ละท้องที่ เช่น การนวดด้วยเท้าใช้กระบือย่ำ นวดโดยการฟาด โดยใช้รถแทรกเตอร์ย่ำ และนวดด้วยเครื่องนวดข้าว ซึ่งการนวดข้าวนั้นมีข้อควรคำนึง คือ ควรระมัดระวังการสูญเสียของข้าวเนื่องจากนวดไม่หมดหรือเมล็ดกระเด็นหายไป หรือถูกเครื่องนวดพ่นเอาเมล็ดออกไป เป็นต้น ซึ่งหากไม่ได้ใช้เครื่องนวดจะต้องมีการทำ ความสะอาดเมล็ดข้าวเปลือกด้วย เพื่อลดสิ่งเจือปนที่ติดมากับข้าว
*การเก็บรักษาเพื่อทำเมล็ดพันธุ์
มีข้อควรปฏิบัติดังนี้
1. เมล็ดจะต้องสะอาดปราศจากสิ่งเจือปน ไม่เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคและแมลงศัตรู
2. เมล็ดแห้ง มีความชื้นไม่เกิน 14 เปอร์เซ็นต์
3. ยุ้งฉางจะต้องสะอาด มีตาข่ายป้องกันนก หนู และศัตรูอื่น ๆ อากาศถ่ายเทได้สะดวก มีหลังคาปิด
กันแดดและกันฝน
4. ถ้าเก็บรักษาโดยการบรรจุกระสอบควรใช้ไม้รองกระสอบควรสูงจากพื้นประมาณ 5-6 นิ้ว เพื่อ
ป้องกันความชื้นจากพื้นดินหรือซีเมนต์
*********
       








  ถึงแม้การเพาะปลูกข้าวขาวดอกมะลิ 105 จะมีปัญหามากในเรื่องการขายที่ไม่ได้ตรงตามพันธุ์ดังกล่าวเราชาวนครสวรรค์ก็จะตั้งใจปลูกข้าวขาวมะลิ 105 ให้มีคุณภาพเพื่อชาวนครสวรรค์และชนชาวไทยได้มีข้าวคุณภาพดี มีกลิ่นหอมและเมล็ดอ่อนนุ่มจากจังหวัดนครสวรรค์ไว้รับประทานกันชั่วกาลนาน**

*ข้อมูลเชิงวิชาการจากเอกสารแจกฟรีห้ามจำหน่าย เรื่องการปลูกข้าวขาวดอกมะลิ 105 กรมส่งเสริมการเกษตร
** บทความจากผู้เขียน

3 ความคิดเห็น:

  1. โรงสีในจังหวัดนครสวรรค์รวมตัวกันกดราคาข้าวในพื้นที่นครสวรรค์ทั้งหมด ชาวนาเดือดร้อน เห็นใจชาวนาบ้าง เถ้าแก่โรงสีรวยเพราะชาวนาแท้แท้ อย่าเบียดเบียนชาวนาเกินไป ราคารับซื้อเป็นกลางหน่อย อีกหน่อยชาวนาต้องไปขายข้าวดาวอังคาร อย่างที่นายก็บอก

    ตอบลบ
  2. ราคากลางที่รัฐบาลกำหนดนั้น ชาวนาพอรับได้ เพราะหักต้นทุนแล้ว ก็พออยู่พอกินและพอเพียง แต่พ่อค้าคนกลาง(ลานค้าข้าวและโรงสีข้าว) มักกดราคาให้ต่ำมาก จนชาวนาหักต้นทุนแล้ว เหลือไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน #โอ้!นี่หรือ?ชีวิตชาวนาไทย #ผู้เป็นกระดูกสันหลังของชาติ คิดแล้วน่าเศร้าซะเหลือเกิน😥😥😥

    ตอบลบ
  3. จะดีกว่านี้ถ้าราคาข้าวเปลื่อกและข้าวสารสมดุลกันอยู่เสมอ ราคาข้าวเปลื่อกเวลาลงก็ลงแบบใจหายในระหวางข้าวสารราคาตายตัว รัฐผู้บริหารก็ดัยมาหวยแตกอีก ผู้ผลิตที่จนที่สุดก็คือชาวนา

    ตอบลบ